ลุยป่าพุระกำ
- Palit
- 22 เม.ย. 2560
- ยาว 1 นาที

ทริปนี้เริ่มจากอยากหาสถานที่สักแห่งเพื่อปั่นจักรยาน และถ่ายรูปไปด้วย เนื่องจากเวลาที่จำกัดแค่ 1 วัน สถานที่รอบๆ กรุงเทพในระยะ 200 กม. ในที่สุดเราก็เลือกป่าพุระกำ จ.ราชบุรี
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาผมอยากปั่นเส้นทางจากกรุงเทพไปราชบุรีซึ่งเป็นบททดสอบก่อนจะปั่นจักรยานทางไกล แต่ด้วยเหตุการณ์บางอย่างทำให้ผมปั่นไปได้แค่นครปฐมแล้วจำเป็นต้องปั่นกลับก่อน ตอนนั้นไป-กลับราวๆ 200 กม. แต่รอบนี้ไม่ได้ปั่นไปเอาจักรยานขึ้นรถไปแทนเพื่อจะประหยัดเวลา ผมไม่ค่อยรู้เรื่องป่าพุระกำเท่าไหร่ ผมไปเพราะอยากรู้ว่าที่นั่นมีอะไรรอคอยอยู่
คนส่วนใหญ่คิดว่าพวกเราปั่นจักรยานทำไม ผมตอบได้แค่ว่ากำลังค้นหาอะไรบางอย่าง ที่ขาดหายไปจากชีวิต สิ่งที่ผมเรียกว่า Life จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษเพราะหมายความที่กว้างกว่าภาษาไทย จริงๆ แล้วไม่มีอะไรมากแค่อยากให้เวลาพูดดูดีขึ้น
อีกประเด็น คือ พวกเราอยากเข้าไปคุยกับชาวบ้าน และอยากรู้ว่าก่อนที่สิ่งอำนวยความสะดวกจะเข้าไป ก่อนที่ความเจริญจะเข้าถึง เขาคิดอะไรอยู่ คนชายขอบที่เส้นแบ่งดินแดนทำให้เขาต้องไร้ตัวตนในสังคม ไม่สามารถออกมาโลกภายนอกได้ ในความคิดผมคือไม่จำเป็นเลยที่เขาต้องออกจากหมู่บ้าน ไฟฟ้า ทีวี โทรศัพท์ไม่จำเป็น เขาอยู่กับธรรมชาติ รักษาผืนป่า และไม่ได้ทำลายป่าอย่างที่เราเข้าใจแต่เขารักษาป่าต่างหากเพราะป่าคือชีวิต
ในยามที่อากาศในกรุงเทพเปิดแอร์เพื่อทำให้อุ่น ส่วนเขาเดินไปเป็นกิโลเพื่อหาฟืนมาจุดไฟสร้างความอบอุ่น ที่จำเป็นต้องเดินไปไกลขนาดนั้นเพื่อหาต้นไม้ที่ล้มเพราะเขาไม่ตัดต้นไม้ที่ยืนต้นอยู่ ...สงสัยผมจะอินไปหน่อยเข้าเรื่องจักรยานดีกว่า
นี่เป็นฉบับที่ 03 สำหรับ Spinning Cycle ซึ่งผมพยายามถ่ายทอดเรื่องราวผ่านภาพมากกว่าตัวอักษรเพราะอยากให้ภาพเล่าเรื่องและสร้างเรื่องราวผ่านกระบวนการคิดของผู้อ่านเอง
ทริปนี้ เราค้นพบหมู่บ้านหนึ่งอยู่กลางหุบเขา เหมือนบ้านชาวญี่ปุ่น แต่เป็นบ้านของชนเผ่าที่อาศัยอยู่กับป่ามาช้านาน ก่อนเข้าหมู่มีป้ายติดว่า “ห้ามบริจาคของให้หมู่บ้านนี้” ผมเก็บความสงสัยจนจบทริปแล้วรีบหาคำตอบ และผมก็รู้ทันทีว่าเพราะอะไร
ในสังคม มีคนหลากหลายแบบโดยส่วนตัวผมคิดว่าส่วนใหญ่มีความคิดดี แต่ความคิดนั้นที่คิดว่าดีไม่ได้ดีสำหรับทุกคน เหมือนเราบอกให้ดูทีวี หรือใส่เสื้อผ้าเหมือนเรา คือการทำร้ายเขาทางอ้อม ทำให้เปลี่ยนวิถีชีวิต แนวคิด จนทำให้ชุมชนที่เคยอุดมสมบูรณ์เริ่มแห้งแล้งจนกลายเป็นเมืองที่เราอยากเห็น แต่ที่นี่โชคดีที่ยังมีโครงการหลวงฯ ยังพอทำให้ชุมชนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง
สายน้ำภาชีสร้างชีวิตให้อุดมสมบูรณ์เหมือน เดิม ชุมชนที่ควรมีความสมบูรณ์ได้ฟื้นคืน
ความสุขในแบบของเขา ไม่ใช่การเอาความสุขแบบเราไปใส่ให้คนอื่น
ลองติดตามอ่านเนื้อหาได้ในฉบับนี้
เส้นทางปั่น
download file PDF
Comments